การศึกษาในยามวิกฤตช่วยให้เด็กรับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดได้ดีขึ้น งานวิจัยของ Inter-agency Network for Education in Emergencies (INEE) ชี้ให้เห็นว่าการศึกษากระตุ้นความคิด เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อนและผู้ใหญ่ที่เด็ก ๆ ให้ความไว้วางใจ และสร้างกิจวัตรประจำวัน ซึ่งมีส่วนช่วยเยาวชนในการรับมือกับภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นการศึกษาจึงยิ่งสำคัญท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 นี้
จากการประมวลการตอบโต้ของแต่ละรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา MIT พบว่านโยบายใหม่ ๆ ด้านการศึกษาได้มุ่งเน้นไปยัง 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ให้เป็นแบบทางไกล ความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา การยกเลิกการสอบในระดับรัฐ การให้ความสำคัญกับความต้องการอื่น ๆ ของนักเรียน เช่นด้านอาหารและการเยียวยาจิตใจ และการให้ความสนใจกับกลุ่มบุคคลที่อาจต้องการมาตรการรองรับพิเศษ เช่นนักเรียนพิการ
ในงานวิจัยนี้ทาง MIT ได้ให้ข้อเสนอแนะกับผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา 3 ประการด้วยกัน
(1) ปรับแผนการเรียนการสอนทางไกลโดยคำนึงถึงเรื่องความเท่าเทียมเป็นสำคัญ
ปัจจุบันสหรัฐเองให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ดีอยู่แล้ว เกือบทุกรัฐได้ออกนโยบายสนับสนุนการเรียนรู้สำหรับผู้พิการ แต่ในอนาคตอาจต้องมีการสนับสนุนเพิ่มเติมในด้านการสอนภาษาอังกฤษ (เด็กที่มาจากครอบครัวผู้อพยพอาจภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง) เพื่อที่นักเรียนจะได้เข้าถึงสื่อการเรียนการสอนในระดับชั้นของตนได้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ทาง MIT ยังได้แนะนำให้แต่ละรัฐคะนึงถึงกลุ่มเด็กที่อาจจะต้องการรับการดูแลพิเศษเพิ่มเติม เช่นเด็กที่ได้รับการอุปถัมภ์ เด็กที่เคยก่อคดีความ และเด็กไร้บ้าน
(2) นโยบายด้านการศึกษาควรตระหนักถึงอุปสรรคและข้อจำกัดของการเรียนทางไกลตามบ้าน
ในการตัดสินใจหว่างว่าการสอนเนื้อหาใหม่กับทบทวนบทเรียน ผู้ออกนโยบายควรดูว่ามาตรการใหม่สอดคล้องกับมาตรฐานด้านการศึกษาหรือไม่ โดยรัฐอาจออกเกณฑ์ว่าการที่จะผ่านไปเรียนหลักสูตรชั้นสูงขึ้นได้ จะต้องมีความรู้เรื่องอะไรบ้างที่เป็นสาระสำคัญที่สุดของวิชานั้น ๆ แต่ไม่ว่าจะเลือกอย่างแรกหรืออย่างหลัง สถาบันต่าง ๆ ควรวางแผนด้านการสอนภาคฤดูร้อนเพิ่ม เพิ่มเวลาเรียนในเทอมถัดมา ปรับหลักสูตรและการพิจารณารับเข้าเรียนสำหรับปีการศึกษาต่อไป และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับรูปแบบการให้คะแนน เช่นการเปลี่ยนมาให้คะแนนแบบผ่าน/ไม่ผ่านแทนการให้เกรดตามปกติ
การเรียนระยะไกลควรเป็นไปโดยไม่ต้องการความพร้อมเพรียง (asynchronous learning) เพราะในครอบครัวที่มีจำนวนเครื่องมือสื่อสาร หรือสัญญานอินเทอร์เน็ตที่จำกัด เด็ก ๆ อาจจะใช้เครื่องมือเหล่านั้นในการเรียนรู้พร้อม ๆ กันไม่ได้ และปัญหานี้อาจเลวร้ายขึ้นเมื่อผนวกกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้ผู้ปกครองหลายรายต้องตกงาน รูปแบบการเรียนการสอนควรเน้นการกระตุ้นความสนใจของเด็กในการเรียนออนไลน์มากกว่าการทำตามคำสั่ง และอาจพิจารณาการใช้เทคโนโลยีแบบพร้อมเพรียง (synchronous technologies) สำหรับการถามคำถามหรือตรวจสอบความคืบหน้าเป็นรายบุคคล
แต่ละโรงเรียนอาจต้องมีนโยบายหรือการให้คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับเด็ก ผู้ปกครอง และครูในการสอนผ่านการสนทนาทางวีดีโอ เพราะอาจพบเหตุการณ์ “zoom bombing” คือการมีผู้ไม่ได้รับเชิญมาร่วมประชุมด้วย เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และอาจนำไปสู่ความสัมพันธ์อันมิบังควรระหว่างครูและนักเรียน นอกจากนี้ กลุ่มสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ควรแบ่งปันตัวอย่างตาราง แผน และสื่อการสอนซึ่งกันและกัน โดยในแต่ละตัวอย่างควรชี้ให้เห็นว่าส่วนไหนน่าเอาอย่างเป็นพิเศษ ทางรัฐเองอาจร่างตัวอย่างตาราง และแผนการเรียนการสอนเองด้วย อนึ่งเป็นการตรวจสอบว่านโยบายของแต่ละรัฐนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่
(3) การถ่ายทอดข้อมูลด้านนโยบายควรชัดเจนและเข้าถึงได้ง่ายสำหรับหลาย ๆ กลุ่ม
รัฐควรตั้งหน้าเว็บเฉพาะกิจสำหรับการแบ่งปันข้อมูลด้านการศึกษาในยุคโควิด มีเอกสารสรุปนโยบายและข้อชี้แนะสำคัญสำหรับโรงเรียนและผู้ปกครอง และรวบรวมข้อมูลจากหลากแหล่งให้เป็นเอกสารชุดเดียวโดยมีสารบัญที่มีลิงค์ไปสู่เอกสารหรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ ซึ่งรัฐควรให้ความสำคัญกับการเข้าถึงได้ง่ายของเอกสารหลัก ๆ เหล่านี้เป็นพิเศษ เพื่อการจัดการปรับเปลี่ยนระบบอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐควรออกรายการตรวจสอบ (checklist) หรือแบบฟอร์มมาตรฐาน (template) เพื่อให้แต่ละโรงเรียนมองเห็นประเด็นสำคัญได้ง่ายขึ้น รวมทั้งจัดเรียงเอกสารตามหัวข้อ เพราะในปัจจุบันหลายหน่วยงานได้จัดเรียงคำแถลงตามวันที่ ซึ่งทำให้หาข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ลำบาก
เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้การอัดวีดีโอสั้น ๆ เพื่ออธิบายนโยบาย และทำให้การสื่อสารที่ดูเป็นกันเองขึ้น รวมถึงอาจร่วมมือกับบุคลากรสำคัญหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ ครูใหญ่ สมาคมผู้ปกครอง หรือชมรมครูเพื่อออกคำแถลงร่วมกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐควรจะคอยฝังเสียงตอบรับจากประชาชนอยู่เสมอ
แม้ว่าคำแนะนำเหล่านี้จะเป็นผลลัพธ์จากการศึกษานโยบายของรัฐต่าง ๆ ในอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่การระบาดของไวรัสโคโรนารุนแรงกว่าที่ไทยเรามาก แต่ก็มีคำแนะนำหลายประการที่น่าคำนึงถึง และน่านำไปปรับใช้กับระบบการศึกษาระยะไกลรูปแบบใหม่ที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย
ที่มา: https://edarxiv.org/437e2
Comments