top of page
Search

TRANSLATED ARTICLE: อย่าให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอย โลกหลังไวรัสโคโรนาห้ามกลับมาเป็นเหมือนเดิม

Ian Goldin และ Robert Muggah เขียน

นัชชา ยงพิพัฒน์วงศ์ แปล


ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2563

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 สู่ 176 ประเทศทั่วโลก เป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติที่น่าเกรงขามที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ในขณะที่ระดับความน่าไว้วางใจว่าจะเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงในรูปแบบสถาบัน ได้ลดต่ำลงเป็นประวัติศาสตร์


ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่สองที่มาเยือนโดยที่หลายฝ่ายไม่ทันได้ตั้งตัว การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 เป็นวิกฤตการณ์ที่คาดเดาได้ว่าจะเกิด ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อต่างได้ตักเตือนเกี่ยวกับความรวดเร็วในการแพร่หลายของโรคระบาดที่นับวันยิ่งทวีคูณ โดยมีไข้เลือดออก (Dengue) อีโบลา (Ebola) ซาร์ส (SARS) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 เป็นตัวอย่างเพียงน้อยนิดของปัญหาที่กำลังก่อตัว มีการระบาดที่บันทึกไว้กว่า 12,000 ครั้ง นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา ที่รวมแล้วได้คร่าชีวิตผู้ป่วยหลายสิบล้านรายทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนั้นมีไม่น้อยคนที่เป็นยาจกแม้ในหมู่คนยากจน ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรอานามัยโลก (WHO) ยังพบการระบาดของ 6 จาก 8 โรคที่ทางองค์กรให้ความสำคัญเป็นพิเศษเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2018 ดังนั้นเราจึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าการระบาดใหญ่ครั้งนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญานเตือนใด ๆ


ในระหว่างการจัดการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ อันเป็นผลกระทบของไวรัสโควิด-19 เราควรขบคิดกันว่าทำไมประชาคมโลกถึงขาดความพร้อมในการรับมือกับเหตุระบาดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นนี้ แม้จะมีประสบการณ์จากหลากหลายวิกฤตระดับนานาชาติที่ได้พบมาแล้วก่อนหน้า


สงครามโลกครั้งที่สองสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างพินาศของเหล่าผู้นำในการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดจากสงครามโลกครั้งแรก และแม้การก่อตั้งองค์กรสหประชาชาติ และ สถาบันเบรตตัน วูดส์ ต่าง ๆ ในช่วงปลาย ค.ศ. 1940 จนถึงต้น ค.ศ. 1950 จะเป็นความหวังครั้งใหม่ของโลก แต่เรื่องชวนคิดบวกเหล่านี้ก็ถูกลบล้างไปด้วยสงครามเย็น และยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงระบบของประธานาธิบดีเรแกนและนายกรัฐมนตรีแทตเชอร์ในช่วงปี ค.ศ. 1980 ยังทำให้รัฐบาลลดความเหลื่อมล้ำผ่านภาษี และให้สวัสดิการที่จำเป็น เช่นการรักษาพยาบาล ได้น้อยลง


ความสามารถในการควบคุมโลกาภิวัตน์ของเหล่าองค์กรนานาชาติได้ถูกลดทอนลงในจังหวะที่อำนาจนี้เป็นที่ต้องการมากที่สุด จำนวนผู้คน สินค้า และเม็ดเงินที่เดินทางระหว่างประเทศมากขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงปี ค.ศ. 1980 และในเวลาต่อมาอีกสามทศวรรษ การหลั่งไหลอันรวดเร็วของสินค้า บริการ และทักษะ เป็นกลไกสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการลดลงของจำนวนคนยากจนทั่วโลก ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ผู้คนกว่าสองพันล้านคนได้หลุดพ้นจากความยากจนสุดขีด และพัฒนาการทางด้านเข้าถึงการศึกษา โภชนาการ สุขอนามัย และสาธารณสุข รวมถึงวัคซีน ได้ทำให้อายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึงสิบปี


ถึงกระนั้นองค์กรนานาชาติเหล่านี้ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหา และความเสี่ยงที่เกิดจากปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ได้


โลกของเราถูกปกครองโดยประเทศที่นิยมการฉายเดี่ยวมากกว่าการให้ความร่วมมือ ส่งผลให้องค์การนานาชาติที่ออกแบบไว้เพื่อปกป้องอนาคตของโลกได้รับทรัพยากรและอำนาจไม่เพียงพอ กล่าวคือผู้ที่ล้มเหลวและไม่สามารถปกป้องสุขอนามัยโลกได้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ แต่เป็นเหล่า ‘ผู้ถือหุ้น’ ของ WHO


เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว


ปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์มีข้อดีคือการขับเคลื่อนให้โลกเราเชื่อมถึงกันที่มากขึ้น แต่ก็เป็นดาบสองคม เพราะการเชื่อมต่อพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอาจนำสู่ความเสี่ยงของระบบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ดี


วิกฤติการเงินปี ค.ศ. 2008 เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านความเสี่ยงเชิงระบบอย่างชัดเจน อีกทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการระบบการเงินที่นับวันยิ่งซับซ้อน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่บรรดาผู้มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจต่างได้รับความนิยมน้อยลงไปมากหลังวิกฤตครั้งนั้น ในทางกลับกันนักการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยม ต่อต้านทั้งโลกาภิวัตน์และเหล่าผู้เชี่ยวชาญ กลับเป็นฝ่ายได้รับการเทคะแนนเสียงให้


ผู้นำประชานิยมที่เพิ่งได้รับอำนาจต่างก้าวซ้ำวีถีเดิม คือกล่าวโทษชาวต่างชาติและหันหลังให้กับประเทศอื่น ๆ โดยมีความขมขื่นของประชาชนเป็นทุน ยกตัวอย่างเช่นประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ปฏิเสธกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ปล่อยข่าวลวงโลก และไม่ใยดีกับพันธมิตรเก่าและสถาบันนานาชาติต่าง ๆ

อัตราการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้นักการเมืองส่วนใหญ่ตระหนักถึงผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่หนักหน่วงของไวรัสโควิด-19 ในกรณีเลวร้ายที่สุดศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐจะต้องรับมือกับผู้ติดเชื้อชาวอเมริกัน 160 ล้านถึง 210 ล้านรายภายในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 ในจำนวนนี้จะมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ต้องนอนโรงพยาบาลถึง 21 ล้านคน และอาจมีผู้เสียชีวิต 200,000 ถึง 1.7 ล้านคนภายในหนึ่งปี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเชื่อว่า 20-60% ของประชากรโลกจะติดเชื้อ และผู้ป่วยอย่างน้อย 14 ล้านถึง 42 ล้านรายอาจเสียชีวิต


ความสำเร็จในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตถูกกำหนดโดยความรวดเร็วในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ กักกันผู้ป่วย และระดมการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ตลอดจนการป้องกันการกลับมาของโรค ดังนั้นจนกว่าจะมีการค้นพบวัคซีน ไวรัสโควิด-19 นี้จะมีฤทธิ์ทำลายล้างไปอีกหลายปี


กรรมตกที่คนยากจน


การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนเปราะบาง และคนยากจนมากที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมในสังคมที่เพิ่มขึ้น


ประชาชนผู้ใหญ่ 60% ของประเทศสหรัฐอเมริกามีโรคประจำตัวเรื้อรัง ชาวอเมริกันราว 1 ใน 8 อยู่ภายใต้เส้นแบ่งความยากจน มากกว่า 3 ใน 4 คนมีรายได้แบบเดือนชนเดือน และผู้คนมากกว่า 44 ล้านคนไม่ได้รับการคุ้มครองทางสุขภาพใด ๆ


แต่ปัญหาที่พบหนักหน่วงยิ่งกว่าในบริเวณที่ระบบสาธารณะสุขมีศักยภาพน้อยกว่าและรัฐไม่สามารถตอบโต้กับสภาวะนี้ได้เท่าทัน เช่นในทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชียใต้ ความเสี่ยงอันซ่อนเร้นของโรคระบาดยิ่งทวีคูณเมื่อมีผู้นำอย่าง ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ของบราซิล หรือ นายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที แห่งอินเดีย ที่ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ไม่เพียงพอ


ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะรุนแรงถ้วนหน้า โดยความสาหัสของผลกระทบขึ้นอยู่กับปัจจัยเช่นความยืดเยื้อของการระบาด และนโยบายตอบโต้ของรัฐบาลทั้งภายในประเทศและในระดับนานาชาติ แต่แม้ในกรณีที่ดีที่สุด ระดับและความทั่วถึงของความผลกระทบที่เกิดขึ้นจะหนักกว่าวิกฤตการเงินปีค.ศ. 2008 แน่นอน ความสูญเสียหนนี้จะไม่ต่ำกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 10% ของ GDP โลก


อีกประเด็นหนึ่งที่มาเคียงคู่กับปัญหาเรื่องคนไร้บ้านและความอดอยากจากรายได้ที่ลดลง คือเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social isolation ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่รวม ๆ กันหลายคนในห้องเดียว หรือจำเป็นจะต้องออกไปทำงานเพื่อยังชีพ


ในสหรัฐอเมริกามีผู้ลงทะเบียนรับเงินชดเชยการว่างงานเพิ่มถึง 3.3 ล้านคน ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ และจำนวนคนว่างงานในยุโรปก็กำลังทลายสถิติเดิมเช่นกัน ประเทศที่ร่ำรวยบางแห่งมีระบบสวัสดิการพื้นฐาน แม้ในหลายกรณีระบบนี้ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมได้เพียงพอ แต่ก็ยังดีกว่าประเทศยากจนที่ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่มีประชาชนคนไหนอดตาย


การปิดโรงงาน กักกันตัวพนักงาน กีดกันการเดินทางไปจับจ่ายของลูกค้า โดยมีข้อยกเว้นเพียงการให้ไปซื้ออาหารที่จำเป็น และการงดกิจกรรมทางสังคมทำให้ห่วงโซ่อุปทานพัง รัฐจึงไม่มีโอกาสใช้นโยบายการคลังเพื่อขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันนโยบายการเงินก็พบอุปสรรคเพราะอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำใกล้ศูนย์อยู่แต่เดิม ดังนั้นการให้รายได้พื้นฐานกับประชาชนที่ต้องการ เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าจะไม่มีใครอดตายจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วยังถูกมองว่าเป็นนโยบายโลกสวย แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นวาระสำคัญและพึงปฏิบัติของหลากหลายรัฐบาลทั่วโลก


แผนฟื้นฟูระดับโลก


ความโหดร้ายของโรคระบาดต้องสู้ด้วยข้อเสนอที่ห้าวหาญ รัฐบาลของบางประเทศในยุโรปได้ประกาศชุดนโยบายเพื่อป้องกันการหยุดชะลอของเศรษฐกิจ อาทิเช่นรัฐบาลอังกฤษที่ต่อชีวิตให้กับบริษัทต่าง ๆ โดยการรับประกันรายได้ 80% ของพนักงานและผู้มีอาชีพอิสระ สูงสุด 2,500 ปอนด์ต่อคนต่อเดือน ในขณะเดียวกันรัฐบาลอเมริกาก็ได้ตกลงงบประมาณเยียวยาเบื้องต้นเป็นจำนวนมหาศาลถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ผู้นำกลุ่ม 20 (G20) ยังรับคำว่าจะให้งบเยียวยา 5 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ยังไม่เผยแพร่รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก


การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนทั้งในระดับชาติ และในระดับนานาชาติ เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพึ่งพาซึ่งกันและกัน และสะท้อนให้เห็นว่าในยามคับขันเช่นนี้เราหันไปพึ่งรัฐบาล ไม่ใช่ภาคเอกชน


การระดมการตอบโต้ทั้งทางเศรษฐศาสตร์และการแพทย์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่พบในประเทศร่ำรวยหลายประเทศ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นปัญหาที่ตามมาคือผลกระทบของไวรัสจะรุนแรงและยืดเยื้อกว่าในประเทศยากจน กระบวนการก้าวสู่การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของหลายประเทศในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชีย จะถดถอย และโรคระบาดคราวนี้ เช่นเดียวภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงกับความเสี่ยงอื่น ๆ จะทำให้ความไม่เท่าเทียมทางสังคมเพิ่มขึ้นทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ


แผนฟื้นฟูระดับโลกที่อัดฉีดเงินทุนเข้าระบบจึงเป็นที่ต้องการอย่างด่วน เพื่อความอยู่รอดของรัฐบาลและสังคม


โควิด-19 ไม่ใช่ตอนอวสานของยุคโลกาภิวัตน์อย่างที่นักวิจารณ์บางกลุ่มได้ลงความเห็นกัน แน่นอนว่าการหยุดการเดินทางและค้าขายระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นเป็นสัญญานบ่งบอกถึงโลกานิวัตน์หรืออโลกาภิวัตน์ แต่การเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้ในทวีปเอเชีย ซึ่งนับเป็นประชากร 2 ใน 3 ของโลก ทำให้การเดินทาง การค้า และกระแสการเงินมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นตามกระบวนการโลกาภิวัตน์ต่อไปในระยะยาว


แม้ว่ากระแสเงิน และการท่องเที่ยวอาจกลับคืนมา ปี ค.ศ. 2019 น่าจะถูกบันทึกเป็นจุดสูงสุดของการไหลลื่นของสินค้า เพราะโรคระบาดจะเร่งการกลับมาผลิตสินค้าในประเทศ และส่งเสริมเทรนด์การนำกระบวนการผลิตมาอยู่ใกล้ตลาดและผู้บริโภคมากขึ้นซึ่งมีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม พัฒนาการด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และการพิมพ์ 3 มิติ ผนวกกับผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าทำพิเศษ ปรับแต่งได้ตามต้องการ ความคาดหวังด้านการจัดส่งเร็ว นักการเมืองที่อยากนำกระบวนการผลิตกลับมาในประเทศ และกิจการต่าง ๆ ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องจักร ทำให้ประเทศรายได้น้อยสูญเสียความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) ที่เคยมี


ไม่เพียงแต่ขั้นตอนการผลิตสินค้าเท่านั้นที่กำลังเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติ ในสมัยนี้อีกหลายบริการ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า (call center) หรือกระบวนการบริหารจัดการต่าง ๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ก็สามารถทำได้ในราคาที่ถูกกว่าแรงงานที่อยู่ห่างไกล พัฒนาการในรูปแบบนี้ก่อให้เกิดคำถามนานาเกี่ยวกับอนาคตของการทำงานในทุกแห่งหน แต่ก็จะมีกลุ่มคนในบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าในบริเวณอื่น เช่นภายในสิบปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีคนงานรุ่นใหม่ในทวีปแอฟริการาว 100 ล้านคน ซึ่งเขาเหล่านี้ไม่มั่นใจว่าเขาจะทำงานอะไร ที่ไหน ยังไง ซ้ำการระบาดหนักของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนของอนาคตตลาดงานในบริเวณนี้ขึ้นไปอีก


ผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง


ความถดถอยทางเศรษฐกิจ ในยุคที่ความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยตกต่ำที่สุดในหลายทศวรรษ มีผลกระทบในวงกว้างต่อความมั่นคงทางการเมืองและสังคม ปัจจุบันนักการเมืองกับประชาชนก็ไม่ไว้วางใจกันอยู่แล้ว ผู้นำทางการเมืองบางคนมีมุมมองหลากหลายเกี่ยวกับประเด็นเดียว ทำให้ประชาชนได้รับข้อความที่ขัดแย้งกัน ซึ่งยิ่งตอกย้ำปัญหาความไม่ไว้วางใจในเจ้าหน้าที่รัฐและเหล่า “ผู้เชี่ยวชาญ”

ความไม่ไว้วางใจนี้ไม่เพียงเป็นอุปสรรคต่อการตอบโต้แก้ไขปัญหาโรคระบาดใหญ่ในระดับชาติ แต่ยังขัดขวางกระบวนการบริหารจัดการวิกฤตในระดับนานาชาติ


ในขณะที่องค์กรสหประชาชาติได้ออกมาเรียกร้องความร่วมมืออย่างเร่งด่วนระหว่างหลากหลายฝ่าย ตัวองค์กรเองขาดการลงมือจัดการกับปัญหา เนื่องจากถูกกีดกันโดยมหาอำนาจในปีที่ผ่าน ๆ มา และหากองค์กรอย่างธนาคารโลก (World Bank) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะให้การสนับสนุนการจัดการแก้ไขปัญหาให้เกิดผล พวกเขาจะต้องอัดฉีดเงินนอกเหนือจากหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ที่เดิมได้ตกลงไว้


หลายกิจการเอกชนและองค์กรการกุศลได้ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ผู้นำในระดับนานาชาติแทนสหรัฐ ซึ่งขาดแคลนสภาวะผู้นำในวิกฤตนี้ ประเทศจีนได้พลิกจากการเป็นวายร้ายสู่ฮีโร่โดยใช้อำนาจอ่อน (soft power) ในรูปแบบของการกระจายความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์และการแพทย์ไปยังพื้นที่ประสบภัยอื่น ๆ นักวิจัยจากทั้งสิงคโปร์ เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน อิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน ต่างตีพิมพ์และแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงการเร่งงานวิจัยเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา


ส่วนหนึ่งของการลงมือจัดการกับปัญหาอันน่าชื่นชมไม่ได้มาจากรัฐบาล สมาพันธ์นายกเทศมนตรี (Conference of Mayors) และ กลุ่มพันธมิตรระหว่างเมือง (National League of Cities) แห่งสหรัฐอเมริกา ได้แบ่งปันข้อมูลด้านการกักกันโรคอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีส่วนช่วยในการปรับปรุงแผนตอบโต้ในระดับภูมิภาค มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ได้สมทบทุนเป็นจำนวน 100 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยพัฒนาระบบสาธารณะสุขในแอฟริกาและเอเชียตอนใต้ และองค์กรอื่น ๆ เช่น Wellcome Trust, Skoll และ Open Society Foundations ตลอดจนถึงมูลนิธิสหประชาชาติ และกูเกิล ก็ได้ยกระดับการให้ความช่วยเหลือของตน


ไม่ต้องกล่าวก็เป็นอันเข้าใจร่วมกันว่าความซับซ้อนที่เกิดจากโลกาภิวัตน์ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปลุกความชาตินิยมและปิดประเทศ การกระจายตัวของไวรัสโควิด-19 จะต้องแก้ด้วยปฏิบัติการประดิษฐ์วัคซีน ใช้อุปกรณ์การแพทย์ และป้องกันการเกิดซึ้าของโรคระบาด ที่ดุเดือดทัดเทียมกับการแพร่เชื้อ

นี่ไม่ใช่เวลาสำหรับการกล่าวโทษซึ่งกันและกัน หากแต่เป็นเวลาสำหรับการลงมือแก้ไขปัญหา รัฐบาลทุกภาคส่วน กลุ่มธุรกิจ และพลเมืองทั่วไปทั่วโลก จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อชะลอการระบาดของไวรัส ตามที่เห็นสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง หางโจว และไต้หวัน เป็นต้นแบบ


ปัญหาระดับโลกที่แก้ไขได้ด้วยความสามัคคี


ชั่วโมงนี้ การจัดการปัญหาอย่างครอบคลุมจากทุกมุมโลกสำคัญยิ่งกว่า ณ เวลาใด การตอบโต้ของกลุ่ม 7 (Group of Seven) กลุ่ม 20 (G20) และมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแลดูไร้ทิศทาง แม้พวกเขาได้สัญญาว่าจะให้ความสนใจกับประเทศยากจนและกลุ่มผู้ลี้ภัย แต่ผลลัพธ์การประชุมออนไลน์ครั้งล่าสุดของพวกเขาแสดงให้เห็นเพียงการให้ความช่วยเหลืออันน้อยนิด กับการตัดสินใจที่ล่าช้าเกินควร ทางที่ดีกลุ่มประเทศที่เต็มใจอยากช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์ควรจับมือกับกลุ่ม 20 เพื่อร่วมคืนความมั่นใจในตลาดโลก และสถาบันต่าง ๆ อย่างทันท่วงที


สหภาพยุโรป จีน และประเทศอื่น ๆ จะต้องร่วมใจกันนำทัพ พร้อมลากสหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยในภารกิจกู้โลกครั้งนี้ ซึ่งรวมไปถึงการเร่งทดลองวัคซีน และแจกจ่ายวัคซีนและยาต้านไวรัสให้กับประชากรโลกแบบฟรี ๆ เมื่อได้ค้นพบแนวทางการรักษาที่ได้ผลแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลทั่วโลกจะต้องลงทุนเพิ่มเติมอย่างมหาศาลในด้านของสุขอนามัย สาธารณะสุข และรายได้พื้นฐาน


เราจะข้ามผ่านวิกฤตนี้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพียงเพื่อพบว่ามีผู้เสียชีวิตมากมายเกินควร เศรษฐกิจโลกพังยับเยิน โดยไม่มีการรับประกันว่าจะไม่เกิดการระบาดใหญ่ครั้งต่อไป ในเวลานั้นการสร้างกลไกป้องกันโรคระบาดเฉกเช่นโควิด-19 ที่ประกอบด้วยหลายฝ่ายและแข็งแกร่ง จึงสำคัญไม่แพ้กับกระบวนการเยียวยา

การปิดประเทศ ไม่ว่าจะเข้มงวดเพียงใด ก็ไม่สามารถปกป้องเราจากการเกิดโรคระบาด หรือแม้แต่ภัยคุกคามในรูปแบบอื่น ๆ อีกครั้งได้ สิ่งที่กำแพงสูงเหล่านั้นจะปิดกั้นไปจากเราคือ เทคโนโลยี ผู้คน เงิน และมากไปกว่าอื่นใดคือความคิดริเริ่มร่วม และความตั้งใจที่จะฝ่าฟันนานาปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการระบาดใหญ่ระดับโลก สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การดื้อยาของเชื้อโรค การก่อการร้าย และอีกหลายหลายภัยคุกคามต่อโลกใบนี้


อย่าให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอย โลกหลังไวรัสโคโรนาห้ามกลับมาเป็นเหมือนเดิม เราจะต้องหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดเดิม ๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 โดยการปฏิรูประบบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโรคระบาดใด ๆ จะไม่เป็นภัยต่อเราอีกต่อไป


เราสามารถจัดระเบียบโลกได้ใหม่หลังวิกฤตไวรัสโคโรนาคลี่คลาย ถ้าเราให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนในประเทศ และก้าวข้ามความแบ่งแยกในระดับนานาชาติ ที่ปล่อยให้เชื้อโควิด-19ทำร้ายเราได้ถึงเพียงนี้ การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราหยุดการระบาดครั้งต่อ ๆ ไปได้ แต่ยังเป็นหนทางแก้ไขปัญหา เช่นวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และภัยอันตรายอื่น ๆ ได้เช่นกัน


ได้เวลาสานสัมพันธไมตรีทั้งในประเทศและระหว่างประเทศแล้ว


52 views0 comments

Recent Posts

See All

สรุปข้อแนะนำจาก MIT ว่าด้วยเรื่อง “การศึกษาในยุคโลกาวิบัติ”

การศึกษาในยามวิกฤตช่วยให้เด็กรับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดได้ดีขึ้น งานวิจัยของ Inter-agency Network for Education in Emergencies (INEE) ชี้ให้เห็นว่าการศึกษากระตุ้นความคิด เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง

bottom of page